loading...
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2559
‘ประยุทธ์’ระบุต่อสายตรงกรธ.ตลอด
‘ประยุทธ์’ระบุต่อสายตรงกรธ.ตลอด เผยรู้ทุกเรื่องเพื่อวางแผนปรับ ลั่นยึดปชช.เป็นตัวตั้ง แจงสร้างรถไฟเร็วสูงเองเพื่อให้เป็นของไทยเอง
เมื่อเวลา 16.40น. วันที่ 24 มี.ค.2559 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาณ์ถึงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคสช. ในประเด็นส.ว.สรรหา 250 คน ที่มาจากการสรรหาของกรรมการสรรหาคัดเลือก 400 คน เพื่อให้คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน ว่า เป็นไปตามนั้น เป็นการหารือร่วมกันทั้งหมดไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร ตนต้องรู้เรื่องหมดอยู่แล้ว ไม่ว่าใครคิดจะพูดอะไรก็พูด เพราะตนเป็นหัวหน้า ไม่ใช่ตนไม่อยู่แล้วแอบไปพูด มันไม่ใช่ ต้องหารือกันตลอดโทรศัพท์ก็มี ตนจะได้วางแผนของตนไว้ ว่าแค่ไหน อย่างไรที่จะปรับได้ ตนก็จะยอมปรับให้ ไม่ใช่ว่าตนต้องการอำนาจไว้มากมาย แต่ต้องการให้มันทำงานได้
“อย่าไปเขียนเลย ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น การจะแต่งตั้งทหารบ้าง อะไรบ้างและยังไงแต่งตั้งทหารมันถูกทุกคนหรือไม่ ก็ไม่เห็นถูกเลย เดี๋ยวก็ต้องไปเขียนต่อกันว่า ต้องเอาหน้าใหม่ เดี๋ยวคนนี้จะต้องเป็น จะเขียนไปทำไม ผมไม่เข้าใจ ไม่มีประโยชน์ ทหารเขาอยู่ด้วยวินัยไม่ว่าจะตั้งใคร มันขัดคำสั่งไม่ได้ ขัดคำสั่งก็ปลดเท่านั้นเอง ขอให้คนสั่งทำให้ถูกต้องก็แล้วกัน ถ้าถูกต้องทหารก็ทำให้หมดอยู่แล้ว เพราะเขามีวินัย เว้นแต่จะสั่งไม่ค่อยถูก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า ดังนั้นการที่มีทหารเข้าไปก็เพื่อจะเสนอว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกอย่างไร ผิดอย่างไร ควรจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง จะได้ไม่ไปสั่งเขาผิดๆ ถูกๆ แล้วก็เกิดเรื่องเหมือนที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนแสดงให้เห็นแล้วว่า เต็มใจในการที่จะพาให้บ้านเมืองนั้นไปได้ ขอให้พอกันเสียทีกับการที่จะมาเอาชนะคะคาน ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ประชามติทำไม่ได้ แล้วกลับมาโทษว่ารัฐบาลทำให้ไม่ผ่าน เพราะอยากจะอยู่ต่อ พูดอย่างนี้มันไม่ถูก เหมือนกับไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ ใช่หรือไม่ “ก็ในเมื่ออยากจะเลือกตั้ง ก็ให้ อยากมีรัฐธรรมนูญ ก็ให้ ในเมื่อผมให้ตั้งเยอะตั้งแยะ ผมขอไว้บ้าง ขอเพื่อใคร ขอเพื่อบ้านเมืองหรือเปล่า ใช่มั๊ย คิดให้ดี อย่าเขียนอะไรที่ทำให้วุ่นวาย” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการประชุมแม่น้ำ 4 สาย อีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมก็เป็นการเล่าให้ฟังกัน แต่ถ้าจะประชุมอีกครั้งจะทำอะไรกันอีก เพราะตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการไปทำความเข้าใจ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าจะคุยกันต่อแล้วเขาจะปรับแก้กัน ก็แล้วแต่ท่าน
เมื่อถามว่า เป็นการพอใจทั้งสองฝ่ายใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ถ้าถามผม ผมไม่ใช่ฝ่ายไหน ต้องดูว่าประชาชนพอใจหรือเปล่า ผมเอาประชาชน ผมไม่สนใจใครทั้งสิ้น ผมทำเพื่อประชาชนไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายไหน ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเองด้วยซ้ำ ไม่ได้ห่วงตัวเองเลยสักนิด แล้วคุณไม่ห่วงผมหรือ ประเทศชาติคุณก็ไม่ห่วงอีก แล้วตกลงมันจะอยู่กันยังไง แล้วพวกนี้ พวกทหารเขาอยู่กันยังไง เขาเสียสละชีวิตกันมาเยอะแยะ หรือจะตีกันต่อไป ก็ตามใจ และอย่ามาโทษผมก็แล้วกัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง พล.อ.ประยุทธ์ ถือโอกาสระบุถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า “ประเทศไทยวันนี้ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ถ้าแข็งแรงกว่านี้ก็คงมีข้อเสนอมาก แต่วันนี้ยังไม่แข็งแรง และคงจะต้องแข็งแรงด้วยรัฐธรรมนูญก่อนมั้ง รัฐธรรมนูญคงช่วยให้แข็งแรงขึ้นเยอะ อาจทำให้ประเทศเป็นมหาอำนาจก็ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้”
แจงสร้างรถไฟเร็วสูงเองเพื่อให้เป็นของไทย
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีไทยตัดสินใจลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ โคราช ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งจีน ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันและข้อมูลทั้งหมดได้คิดทบทวนแล้วว่าควรดำเนินการเองดีกว่า เพื่อให้เป็นของเราเองภายในประเทศของเรา ซึ่งตนเห็นศักยภาพที่พร้อมก่อนในภาคอีสาน จะเปิดประตูด้านอีสานก่อน เพราะอีสานเป็นแหล่งวัตถุดิบ เป็นแหล่งแรงงาน เป็นแหล่งของสถานประกอบการต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และมีจังหวัดใหญ่หลายจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง มีรายได้ต่อจีดีพีหลายจังหวัด ประชาชนมีความเข้มแข็ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า มองว่าเปิดประตูอีสานจะเป็นประโยชน์ที่เชื่อมต่อในภายภาคหน้าได้ หากเราทำภาคนี้ได้และเปิดทุกภาคได้ก็จะเป็นการดี แต่เนื่องจากขีดความสามารถเรามีจำกัดในเรื่องรายได้ของประเทศ จึงต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเส้นไหนก่อน ถ้าไม่ทำวันนี้เราอาจจะช้าเกินไป เราจำเป็นที่ต้องมีการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท จากเมืองใหญ่คือกรุงเทพไปยังแต่ละภาค แต่ละกลุ่มจังหวัดที่เข้มแข็ง หากสัญจรรวดเร็วคนอาจจะนั่งรถไฟไปเช้าเย็นกลับได้ เป็นการกระจายคนสู่ชนบท กระจายเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หากทำรางไว้ก่อนแบบที่เราเคยคิดไว้แล้วเอาความเร็วปานกลางมาวิ่ง วันหน้าต้องเปลี่ยนความเร็วสูงอีกอยู่ดี จึงคิดว่าการลงทุนครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ หลายประเทศเริ่มทำแล้ว ที่ทุกคนกลัวสินค้านู้นนี่จะเข้ามาเพื่อให้เกิดความเชื่อใจจึงเอาของเราไปก่อน ตนคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล เราต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน หากมองว่าเขาต้องการกำไร ตนคิดว่าเขาคงไม่ได้กำไรเพราะเส้นทางสายนี้ เพราะเป็นเส้นทางที่ไม่ยาวมากนัก 250 กิโลเมตร ซึ่งหากใช้เวลาวิ่งจากกรุงเทพถึงโคราชจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงอย่างเต็มสปีด
“ไม่ร่วมกับจีนแล้วทำเองดีกว่า เพราะเรามีขีดความสามารถ และเตรียมงบประมาณไว้แล้ว จริงๆ แล้วที่เราเป็นห่วงว่าเงินลงทุนงบประมาณภาครัฐทำไมไม่ออกในเวลา เพราะมันออกไม่ได้ ตกลงไม่ได้สักที วันนี้เรามีวงเงินอยู่แล้วกว่าล้านๆบาท จะต้องลงทุนพวกโครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่ออกไม่ได้ติดนู้นนี่ ติดอีเอชไอเอทั้งหมด ซึ่งเรายกเลิกไม่ได้อยู่แล้ว การทำรถไฟความเร็วสูงก็ต้องผ่านอีไอเอด้วย และจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการทำงานแบบจีทูจี โดยวิศวกรจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีมาช่วยเราก่อสร้าง คนงานก่อสร้างก็เอาของเรา และของบางอย่างที่เราทำเองไม่ได้ก็ต้องซื้อเขา ทั้งหมดเป็นการจ้างเขามาสร้าง แต่ใช้เงินในประเทศเรา อาจมีการร่วมทุนกับเอกชนบ้างที่เอารถวิ่ง มีเรื่องโครงสร้างพื้นที่คือตัวราง อันที่สองรถสิ่งกับระบบสัญญาณ ฉะนั้นคิดว่าทำกันเองดีกว่า ผมคิดว่าคนไทยพร้อมร่วมมือ เป็นของเราเอง ภาคภูมิใจกว่า”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของรถไฟ ตนปล่อยเวลามา 2 ปีแล้ว และคิดว่าถึงเวลาและจำเป็นที่ต้องตัดสินใจแล้ว ขอร้องทุกคนให้เข้าใจ ยืนยันว่าตนไม่ต้องการประโยชน์ใดๆ แต่ต้องการให้ประโยชน์เกิดกับประชาชนทุกคน ซึ่งถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นได้ ประโยชน์จะเกิดต่อชาวอีสานก่อน และถ้ามีเงินมากกว่านี้ เศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะเพิ่มในภาคตะวันตกอีกก็ได้ ถ้าเรามัวรอทั้งเส้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มันยาวนานเกินไป เดี๋ยวจะตายก่อนหมด ไม่มีทางได้เห็น ตนกล้าว่าจะตายก่อนเหมือนกัน
เมื่อถามว่า แนวทางที่ไทยจะดำเนินการก่อสร้างเองจะทำเองทั้งหมดเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งสรุปเช่นนั้น ตนบอกเพียงว่าถ้าเรารวย วันนี้เอาแค่สายนี้ก่อนในความยาว 250 กม.จากกรุงเทพฯ-โคราช เพราะเส้นทางที่จะก่อสร้างทั้งหมดมีความยาวถึง 800 กม. ในส่วนของงบฯนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นลักษณะของรัฐลงทุนโดยใช้เงินกู้ “ส่วนที่ถามว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ถ้าหมายถึงคนขึ้น-ลง แล้วได้กำไลกลับมาเท่ากับที่ลงทุน อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าการลงทุนเพื่ออนาคต ถ้าคิดแบบนี้ไปขึ้นรถเมล์เอาก็ได้ แต่โครงการดังกล่าวจะมีการต่อเพื่อเชื่อมโยงในวันข้างหน้า จากวันนี้ไปพื้นที่อีสาน วันข้างหน้าก็อาจต่อไปยังหนองคาย อาจเชื่อมโยงไปมาบตาพุต ลาว จีน ปากีสถาน อิเดีย ยุโรป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าคุ้มทุน เรียกว่ารถไฟสายอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่จะให้เอกชนไทยร่วมลงทุนกับรัฐนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคนดูแลอยู่ ซึ่งเบื้องต้นเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเรามี PPP อยู่แล้ว วันนี้จีนไม่เกี่ยวกับเรา จึงถือเป็นเรื่องของเราเองทั้งหมด ไปหารถมาวิ่ง ในส่วนของระบบสัญญาณ เราก็ต้องไปดู โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน
“จีนไม่ได้ติดใจอะไรกับการตัดสินใจครั้งนี้ เขาโอเค เขาเข้าใจผม และจีนได้ขอบคุณไทยโดยระบุว่า อยากช่วย ไม่ได้ต้องการอะไรจริงๆ และอยากให้ผมช่วยอธิบายให้คนไทยเข้าใจด้วยว่า เพราะเขาได้ยินมาว่าเหมือนไทยไม่ไว้ใจคนจีน ซึ่งผมยืนยันว่าไม่มี เรื่องแบบนี้ยังไงเราก็หนีกันไม่พ้น เพียงแต่จะจัดระเบียบกันได้อย่างไร เพราะกฎหมายมีกันอยู่แล้ว กฎหมายจะเป็นตัวที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าเราปล่อยปละละเลย ก็จะเกิดความไม่เท่าเทียม แล้วจะไปโทษใคร เมื่อกฎหมายทำไม้ได้ ก็ทำไม่ได้ อย่าโทษกันไปมา สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ลดความหวาดระแวง และเกิดผลประโยชน์ที่เท่าเทียม โลกอยู่ได้ด้วย 3 ข้อนี้ ถ้าถามว่าทำไมเรากำไรน้อย ก็ต้องมาดูว่าเราแข็งแรงพอหรือยัง ถ้าเราแข็งแรงและมีแต้มต่อมากว่านี้ ข้อเสนอเราก็คงมีเยอะ วันนี้เรายังไม่แข็งแรงเลย
“องอาจ”เย้ยแม่น้ำ4สายอยากมีอำนาจเต็มมือ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอคสช. และแม่น้ำ 4 สาย โดยเฉพาะประเด็นส.ว.สรรหา ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยอมปรับแก้เนื้อหาตามว่า ตนเข้าใจดีว่าทั้ง คสช. และแม่น้ำ 4 สาย อยากมีอำนาจเต็มมือในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่ข้อเสนอบางข้อก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กรธ. จะยอมรับได้อย่างเช่น การให้ ส.ว.สรรหา มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะทำให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฝ่ายบริหารได้ เมื่อคสช. และ แม่น้ำ 4 สายมีท่าทีเช่นนี้คงทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.และ กรธ.ทั้งหมดต้องคิดหนักว่าจะดำเนินการเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี ทางที่ดีที่สุดกรธ. ควรเน้นเนื้อหาสาระ มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน ไม่ไปกังวลกับใบสั่ง พร้อมทั้งคำนึงถึงบริบทต่างๆ อย่างรอบด้าน ทำรัฐธรรมนูญให้ประชาชนยอมรับในที่สุด และเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ กรธ. ควรใช้ช่วงเวลาปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์โดย คำนึงถึง 3 หลักการสำคัญ คือ 1. สร้างความสมดุลในอำนาจบนพื้นฐานของนิติรัฐ นิติธรรม โครงสร้างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ องค์กรอิสระและศาล 2. สร้างเสริมกลไกต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น หรือไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา และ3. ลดความเคลือบแคลงสงสัยในอำนาจซ่อนรูป
นายองอาจ กล่าวอีกว่า กรธ. คงไม่สามารถทำตามความต้องการของทุกฝ่ายได้หมด และคงไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้ถูกใจใครได้ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน แต่ กรธ.ย่อมมีความชอบธรรมที่จะเขียนรัฐธรรมนูญบนหลักการ และสภาพความเป็นจริงของสังคมที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้โดยมีอุปสรรคขวางกั้นน้อยที่สุด
ที่มา http://www.komchadluek.net